การคิดแบบเข้าใจทั้งระบบ ( Systems Thinking )

อันดับแรก ผมจงใจใช้คำว่า “การคิดแบบเข้าใจทั้งระบบ” ครับ เพราะผมคิดว่า  Systems Thinking  มันน่าจะแปลแบบนี้มากกว่า เพราะเวลาอ่านคำว่าการคิดเชิงระบบ ผมจะรู้สึกงงๆว่า เชิงระบบมันคืออะไร แต่ถ้า ทั้งระบบ อันนี้เหมือนจะเข้าใจง่ายกว่า (และก็เปลี่ยนมาสองสามชื่อแล้ว เช่น การคิดเป็นระบบ การคิดแบบเห็นระบบ แล้วก็มาถึงการคิดทั้งระบบ)

โอเค ก่อนที่เราจะพูดเรื่องการคิดแบบเห็นระบบนั้น ผมอยากให้เราเข้าใจคำว่า “ระบบ” ซะก่อน เพราะถ้าเข้าใจคำนี้แล้ว ทีเหลือก็ไม่ยาก

ระบบ หมายถึง การเชื่อมต่อครับ

อะไรก็ตามที่มีการเชื่อมต่อ สิ่งนั้นมีระบบ

อย่างร่างกายคนก็ประกอบไปด้วยระบบหลายๆระบบ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบหายใจ ฯลฯ

ระบบเหล่านี้ มนุษย์เป็นคนแบ่งประเภท เพื่อให้มันง่ายต่อการเรียก การจำ หรือการเรียน แต่แท้จริงแล้ว มันคือระบบเดียวกันหมด เพราะทุกอย่างเชื่อมต่อกัน

การคิดแบบเข้าใจทั้งระบบ (Systems Thinking) ก็เลยหมายถึง การคิดแบบเข้าใจว่าทุกอย่างมันเชื่อมต่อกัน

Systems Thinking มันจบง่ายๆแค่นี้แหละครับ

 

115154-8139580-SystemsMap_Learning_Map

ตัวอย่างการเชื่อมต่อกันของระบบ (อ้างอิงรูปจาก : คลิ๊กที่นี่ )

 

ทีนี้มาดูตัวอย่างบ้าง เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

สมมุติผมทำงานเป็นภารโรงที่บริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานดีมาก กวาดพื้นสะอาดเอี่ยมอ่อง คุณว่าผมมีส่วนในการเพิ่มหรือลดยอดขายของบริษัททมั้ยครับ?

ถ้าคุณมองแยกส่วน คุณอาจจะคิดว่าไม่เห็นเกี่ยว เพราะภารโรงไม่ใช่เซลล์ ไม่ใช่มาร์เก็ตติ้ง ไม่ด้มายุ่งอะไรกับการขายทั้งนั้น แล้วภารโรงจะมีส่วนกับยอดขายได้อย่างไร

แต่ถ้าคุณมองทุกอย่างเป็นระบบ ผมบอกแล้วนะว่าระบบคือการเชื่อมต่อ คุณลองดูสิว่า ภารโรงมันเชื่อมต่อกับอะไรบ้างในบริษัท

หนึ่งล่ะ ก็ต้องเป็นคนในบริษัทใช่มั้ยครับ อาจจะไม่ทุกคนแต่ก็ต้องมีคนที่สนิทกับผม เคยคุยกับผมบ้างแหละ สองครับ พื้นที่ที่ผมรับผิดชอบทำความสะอาดมีห้องอะไรบ้าง แต่ละห้องมีใครอยู่ สภาพห้องเป็นอย่างไร ผมต้องเข้าไปกวาดช่วงเวลาไหน เขาทำงานกันอยู่รึเปล่า แถวนั้นมีถังขยะมั้ย ตั้งไว้ตรงไหน แล้วถังขยะมันไปเกี่ยวข้องอะไรกับใครไหม ห้องเกี่ยวกับใครไหม ฯลฯ

เริ่มเห็นหรือยังครับ ถ้าเรามองงว่าทุกอย่างมันเชื่อมต่อกัน เราจะเริ่มมองออกว่าการกระทำหนึ่ง มันจะส่งผลต่อสิ่งอื่น โอเค อาจจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่เนื่องจากมันคือการเชื่อมต่อครับ ดังนั้นมันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

ผมสมมุติกรณีนี้ว่า การที่ผมทำความสะอาดได้ดีมาก ส่งผลให้ห้องทำงานน่าอยู่ การที่ห้องทำงานสะอาดน่าอยู่ ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้สบายขึ้น การที่พนักงานทำงานสบายขึ้นทำให้ประสิทธิภาพงานเพิ่มขึ้น การที่ประสิทธิภาพงานเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตดีขึ้น การที่ผลผลิตดีขึ้นทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น การที่ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น ทำให้ยอดขายดีขึ้น

เห็นมั้ยครับว่าทุกอย่างเป็นระบบ มันเชื่อมต่อถึงกันหมด

ที่เขาจัดอบรมเรื่อง Systems Thinking ในที่ทำงาน ก็เพราะเหตุนี้แหละครับ ถ้าอบรมพนักงานก็ต้องการให้พนักงานรู้ว่า งานทีทำอยู่ตรงหน้ามันมีผลต่อคนอื่นนะ หรือถ้าอบรมให้ฝ่ายบริหารก็เพื่อว่าเวลาจะวางแผนอะไร อย่าคิดแยกส่วน ให้มองทุกอย่างเป็นระบบ(คือมองว่ามันเชื่อมต่อกัน) เวลาวางแผนจะได้รัดกุมมากขึ้น

อ้อ ผมขอเน้นอีกเรื่อง โดยปกติการเชื่อมต่อของระบบจะมีลักษณะเป็นใยแมงมุมนะครับ คือจะเชื่อมต่อกันไปในทุกสาย ทุกทิศทาง หลายคนเข้าใจว่า Systems Thinking คือการคิดแบบ Input=>Process=>Output อันนี้ก็เป็นระบบเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ระบบในความหมายของ Systems Thinking ครับ ถ้าเป็น Systems Thinking จะมองว่า Input ส่งผลต่อ Process และ Output ไม่ใช่ว่าต้องมาผ่าน Process ก่อนแล้วถึงจะไป Output ได้ คือผมกำลังจะบอกว่ามันไม่ใช่ 1—2—3—4—5 มันอาจจะ 1—8—10 ก็ได้ครับ

 

dsc00084

 (อ้างอิงรูปจาก : คลิ๊กที่นี่ )

 

ครับ เรารู้แล้วแหละว่า Systems Thinking คืออะไร เป็นอย่างไร คำถามต่อไปคือ แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีทักษะนี้?

คำตอบนะครับ หนึ่งคือจ้างกระบวนกรเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้ครับ อันนี้ง่ายสุด หรือสอง อยากทำเอง อันนี้ก็ง่ายเหมือนกัน เผลอๆง่ายกว่าแบบแรกด้วย

คือเสต็ปแรกของการทำ Systems Thinking ก็คือการที่คนแต่ละคน ต้องปล่อยอัตตาตัวเองก่อน คืออย่าคิดว่าตัวเองเป้นศูนย์กลางจักรวาลอ่ะครับ อย่าคิดว่าเราคือเจ้าของระบบ แต่ต้องคิดว่าเราคือ “ส่วนหนึ่ง” ของระบบ

จากนั้นครับ เริ่มจากเสต็ปง่ายๆ คือ ให้แต่ละคนบอกว่า งานตัวเองมันมีผลกระทบต่อใครบ้าง เอาฟลิปชาร์ตให้เขียนก็ได้ครับ การแบ่งก็แล้วแต่ว่าต้องการความละเอียดขนาดไหน ถ้าละเอียดมากก็ทำกับพนักงานรายคนเลย หรือถ้าคนเยอะและไม่มีเวลาขนาดนั้นก็ทำเป็นแผนกก็ได้ จากนั้นก็เอาสิ่งที่ทุกแผนกเขียนมาเชื่อมต่อกัน

ในระหว่างนั้น อาจจะใส่ลูกเล่นบางอย่างเข้าไปเพื่อให้สนุกขึ้น เช่นแกล้งบอกว่า สมมุติให้แผนกนี้ไฟดับหรือห้องถล่มอะไรก็ได้ แล้วก็ให้คนที่เข้าร่วมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร เขาก็จะรู้แล้วว่าการที่แผนกนี้เกิดปัญหามันทำให้งแผนกของเขาเกิดปัญหาด้วย เพราะมันเชื่อมต่อกันไง อันนี้ก็จะได้เรื่อง Team building ด้วย คือมันทำได้หลายอย่างครับ อยู่ที่ประเด็นในการอบรมด้วยว่าต้องการเล่นประเด็นไหน

จริงๆเรื่องพวกนี้มันไม่ยากครับ สิ่งที่ยากของการทำ Systems Thinking ก็คือ จะทำอย่างไรให้คน “เห็น” ถึงผลกระทบจากการกระทำต่างหาก เพราะอย่างที่บอกครับ บางอย่างมันก็ไกลเหลือเกินจนเราคิดว่ามันไม่เกี่ยว แต่สุดท้ายมันก็เกี่ยว อันนี้ยากกว่า และเป็นเรื่องที่องค์กรทำเองไม่ได้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นครับ

สุดท้ายผมย้ำอีกทีนะครับ ระบบคือการเชื่อมต่อ ทุกอย่างบนโลกมันเชื่อมต่อกัน และทุกอย่างมันมีผลถึงกันหมดครับ

 

(ที่มารูปหน้าปกจาก : คลิ๊กที่นี่ )

test1

 

 

 

 

ใส่ความเห็น